สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 3 ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ดำเนินโครงการเครือข่ายอุดมศึกษาพี่เลี้ยง เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความขาดแคลนด้านทรัพยากร ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ที่โรงเรียนบ้านส้มกบ อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม
วันที่ 9 มีนาคม 2560 เวลา 13.00 น. ที่โรงเรียนบ้านส้มกบ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 3 นางนิลรัตน์ โคตะ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ พร้อมด้วยนายพนม ศิรินามมนตรี และนางสาววัฒนิกา ฤทธิ์ทรงเมือง ศึกษานิเทศก์ ได้นิเทศ ติดตามการดำเนินงาน
ตาม “โครงการเครือข่ายอุดมศึกษาพี่เลี้ยง” ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยศูนย์บริการวิชาการและเผยแพร่นวัตกรรมทางการศึกษา นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิระพร ชะโน, อาจารย์สุรชัย ตู้กลาง, อ.ดร.วิภาณี สุขเอิบ และนิสิตปริญญาโท คณะศึกษาศาสตร์ สาขาหลักสูตรและการสอน ลงพื้นที่ศึกษาสภาพความเป็นจริงของโรงเรียนบ้านส้มกบ เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหา ศึกษาแลกเปลี่ยนกับผู้มีส่วนเกี่ยวของในโรงเรียน รวมทั้งแนวทางการจัดการศึกษาของโรงเรียนแต่ละด้าน รวมทั้งสิ้น 8 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคมวัฒนธรรม, ด้านบริบทของโรงเรียน, ด้านหลักสูตร, ด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียน, ด้านสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยี, ด้านวิธีการจัดการเรียนการสอน, ด้านเนื้อหาสาระ และ ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อให้ได้แนวทางในการสร้างสื่อ นวัตกรรม แล้วนำกลับมาใช้ในโรงเรียนให้เกิดความเข้มแข็งยั่งยืน
โรงเรียนบ้านส้มกบ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านคำน้อย ต.เหล่าดอกไม้ อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม มีนายสุขี ชมภูเพชร เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน มีนักเรียน 92 คน ครู 6 คน และมี 3 หมู่บ้านในเขตบริการโรงเรียน เข้าโครงการเครือข่ายอุดมศึกษาพี่เลี้ยง เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง นักเรียนมีปัญหาซับซ้อนทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก รวมทั้งปัญหาสังคมและวัฒนธรรม สั่งสมเป็นระยะเวลานาน ทำให้เป็นอุปสรรคปัญหาต่อการศึกษาเล่าเรียน
“โครงการเครือข่ายอุดมศึกษาพี่เลี้ยง” มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการจากทุกภาคส่วน โดยเน้นให้ความสำคัญกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่สถานศึกษาในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น ให้เกิดผลอย่างชัดเจนจากปัจจุบันสู่อนาคต และเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐานมีคุณภาพและมาตรฐานอย่างเสมอภาคอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยมีกรอบและแนวทางสำคัญ ดังนี้
- ด้านผู้เรียน จำเป็นต้องมีความรู้ ความสามารถทางวิชาการ และมีทักษะในการดำรงชีวิตท่ามกลางสภาวะแวดล้อมได้อย่างเข้มแข็ง
- ด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร รวมทั้งแหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่น
- ด้านการพัฒนาครูในโรงเรียนผ่านกิจกรรม
เพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนผ่านรูปแบบการฝึกอบรม การพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อวิชาชีพในฐานะผู้สอน และกลไกการขับเคลื่อน ให้การจัดการเรียนการสอนโรงเรียนในท้องถิ่นให้เกิดคุณภาพอย่างแท้จริง
นิลรัตน์ โคตะ ศึกษานิเทศก์ : ผู้รับผิดชอบโครงการ/ภาพ
ทิพยฉัตร ฉัตรทอง นักประชาสัมพันธ์ : ภาพ/ข่าว