ภาพเด็กเล็ก ๆ แต่งกายชุดนักเรียน ดูสะอาดสะอ้าน แววตาน่าค้นหา กับท่าทีที่มีสัมมาคารวะเดินออกมารับแขก บ้างก็อยู่ในอาการสำรวม บ้างก็เดินจงกรมอย่างมีสติ บ้างก็มีสมาธิจดจ่ออยู่กับกิจกรรมตรงหน้า ดูแล้วสบายใจสบายตา เกินกว่าเด็กวัย 5-6 ขวบจะทำได้ ทำให้นึกสงสัยว่าอะไรเป็นเป็นเหตุให้เด็กตัวน้อย ๆ สงบเสงี่ยมเรียบร้อยได้ขนาดนั้น
ในขณะที่นางทิพยวิมล ดวงเวียงคำ ศึกษานิเทศก์ สพป.มหาสารคาม เขต ๓ เข้าเยี่ยมชมกิจกรรมการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) ที่โรงเรียนบ้านวังกุง ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวใน สพป.มหาสารคาม เขต ๓ ที่เป็นโรงเรียนนำร่องในโครงการเตรียมความพร้อมขั้นพื้นฐาน หลักสูตร สพฐ. การเรียนรู้ที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง โดยให้เด็กมีความรู้รอบตัว สนใจสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตผ่านประสบการณ์ในห้องเรียนเชื่อมโยงสู่วิถีชีวิตที่บ้าน
การเรียนแบบมอนเตสซอรี่โรงเรียนบ้านวังกุง มีครูต้นแบบอยู่ ๑ คน ชื่อคุณครูกุศล สุวรรณสม และครูพี่เลี้ยงอีก ๑ คน ชื่อนางสุภาพร เกษรมาลา คุณครูกุศล สุวรรณสม ได้เข้าอบรมผู้พัฒนาการศึกษา รูปแบบการเรียนการสอนโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางตามหลักสูตรอบรมเข้มที่ สพฐ.กำหนด รวม ๓ ระยะเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๖ ระยะละประมาณ ๓๐-๔๕ วัน โดยได้รับงบประมาณจำนวนสามหมื่นบาทมาพัฒนาการเรียนการสอนระดับปฐมวัยที่นี่ คุณครูเล่าว่าส่วนใหญ่งบประมาณที่ได้จะนำไปซื้อวัสดุท้องถิ่นที่มีอยู่รอบตัวเพื่อมาผลิตสื่อที่ทำขึ้นเองใช้สอนนักเรียน จากการมีส่วนร่วมของครู ผู้ปกครอง และนักเรียนและจัดประสบการณ์ร่วมกัน
วันนี้ (๘ ก.ค.๒๕๕๗) ได้เห็นเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล ๑-๒ โรงเรียนบ้านวังกุงมีระเบียบวินัย รู้จักรอคอย
เข้าแถว ฝึกกิจกรรมการเรียนรู้เป็นกลุ่ม ๆ กับกิจกรรมที่คุณครูจัดให้ที่ครอบคลุมกลุ่มประสบการณ์ชีวิต ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ การสังเกต และการคิดคำนวณ นักเรียนเลือกกิจกรรมตามความถนัดและความสนใจของตนเองอย่างมีความสุข ดูแล้วผู้มาเยือนก็มีความสุขไปด้วย
“มอนเตสซอรี่” เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีจุดมุ่งหมายในการให้การศึกษา จัดประสบการณ์ปลูกฝังให้เด็กได้เจริญเติบโตไปตามความต้องการตามธรรมชาติสอดคล้องกันทั้งที่บ้านและโรงเรียน ที่มีรูปแบบการสอนเด็กเล็ก ริเริ่มโดย ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ จิตแพทย์ชาวอิตาเลียนที่ได้นำแนวการสอนนี้ไปทดลองใช้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา แต่มีความสามารถเรียนรู้ได้เช่นเดียวกับเด็กปกติจนเกิดผลดีมาหลายรุ่น เด็กมีพัฒนาการทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่สมบูรณ์ ต่อมาได้พัฒนาเป็นหลักสูตรการสอนสำหรับเด็กทั่วไปขยายผลสู่ระดับประถมฯ และมัธยมฯ ซึ่ง สพฐ.ก็ได้นำหลักสูตรดังกล่าวมาทดลองใช้เช่นเดียวกัน
ทฤษฎี”มอนเตสซอรี่”เชื่อว่าการศึกษาของแต่ละคนจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวผู้ศึกษาเอง ไม่ใช่การได้รับโดยคนอื่น ดังนั้นการให้การศึกษากับเด็กในระดับปฐมวัยซึ่งเป็นช่วงที่สมองจะจดจำได้มากที่สุดจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใหญ่จะไม่นำความรู้ไปบอกให้เด็ก แต่ควรเป็นการจัดประสบการณ์ปลูกฝัง ช่วยเหลือ และกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการเจริญเติบโตตามความต้องการทางธรรมชาติของเขา เพื่อเขาจะดึงและสั่งสมศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเขาออกมาให้ปรากฏ ครูควรเน้นเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมให้มาก เปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นพบสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เน้นฝึกฝนประสาทสัมผัสในช่วงกำลังเจริญเติบโต รู้จักการสังเกต ค้นหา จดจำ วัสดุอุปกรณ์จึงเป็นหัวใจสำคัญที่เด็กจะได้เรียนรู้ความสำเร็จและล้มเหลว และแก้ไขข้อผิดพลาดด้วยตัวเอง หากเราเริ่มต้นกับเด็กวัยเล็ก เมื่อเขาโตขึ้นสมองที่ได้รับการพัฒนาจะช่วยให้การเรียนรู้ง่ายขึ้น หากเด็กอยู่ในการศึกษาแบบเดิมๆ ที่คอยฟังครูอย่างเดียว จะไม่เกิดการพัฒนาแบบนี้ ซึ่งมอนเตสซอรี่เชื่อว่าจะเป็นพื้นฐานให้เด็กเติบโตได้อย่างมั่นคง
คุณครูกุศล สุวรรณสม เล่าให้ฟังว่า เพิ่งจัดการเรียนการสอนปีนี้เป็นปีที่ ๒ ซึ่งปีแรกนั้นประสบผลสำเร็จ เด็กนักเรียนเรียบร้อย มีวินัย เห็นชัดว่าเด็กเรียนรู้ได้เร็วขึ้นคือ แตกต่างจากการเรียนตามหลักสูตรปกติที่เคยสอนมา เด็กจะมีทักษะชีวิตและการช่วยเหลือตัวเองสูง รวมถึงสมาธิในการทำกิจกรรมด้วย ตอนนี้อยู่ชั้น ป.๑ แล้ว ส่วนรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ ๒ และเพิ่งเปิดเทอมใหม่ เป็นเด็กชั้นอนุบาล ๑-๒ เรียนรวมกัน มีทั้งหมด ๑๘ คน จะมีปัญหาในเรื่องของการสื่อสารระหว่างครูกับเด็กในช่วงแรก แต่หลังจากได้มีการเรียนแบบ มอนเตสซอรี่ ได้ประมาณสามเดือนเด็กเริ่มมีระเบียบ เรียบร้อย และน่ารักอย่างที่เห็น
มอนเตสซอรี่ การจัดประสบการณ์ร่วมกันระหว่างบ้านกับโรงเรียน อิสระในขอบเขตที่ครูกำหนดให้ จะซึมซับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเด็ก เด็กจะแสวงหาความรู้อย่างมีสมาธิ มีวินัยในตนเอง และเกิดการพัฒนาในทุก ๆ ด้านได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป
.. ดูหน้า สพฐ.